สถาบันวิจัย ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตจอมทอง

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP)
  • อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เป็นส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 7 คณะ ประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรม (Bridge for Innovation) เชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย โดยนำผลงานวิจัย นักวิจัย และเครื่องมือวิจัย ของมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้งานวิจัยให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) การสร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) การทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์รวม (Total Value Creation) และการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[55]
  • สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI CMU) เป็นสถาบันที่มีลักษณะของศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) โดยเป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ด้านพลังงานระดับประเทศและระดับนานาชาติในการวิจัยและพัฒนารวมถึงให้บริการวิชาการโดยมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในทุกแขนงสาขาเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นจากการหลอมรวมองค์กรในกำกับทั้ง 2 แห่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องในด้านพลังงาน คือ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน และสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยรับอนุมัติจากทางภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 จัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ " สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน" เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ[56]
  • สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมมีชื่อเรียกว่า โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ประชุมคณบดีเห็นชอบให้มีโครงการจัดตั้งฯ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2528 ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วยผู้แทนจาก 5 คณะหลัก คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความยั่งยืนและความสมดุลของมุนษย์ และสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นศูนย์ต่าง ๆ ดังนี้[57]
    • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช
    • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุล
    • ศูนย์วิจัยนิวตรอนและเทคโนโลยีรังสี
    • ศูนย์วิจัยพลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
    • ศูนย์วิจัยวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
    • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีและวัสดุ
    • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัตถุดิบยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
    • ศูนย์วิจัยอิเล็คทรอนิกส์ประยุกต์และคอมพิวเตอร์
    • ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์
    • ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทาง
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยาและทุโภชนาการ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการในผู้ป่วยเด็กโรคขาดสารอาหารโรคโลหิตจางในเด็กและหญิงมีครรภ์ และความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทุโภชนาการและโลหิตจางกับการเกิดโรคติดเชื้อต่อมาได้เสนอโครงการขยาย และปรับปรุงยกฐานะโดยได้รับความ เห็นชอบในปี พ.ศ. 2521 ให้สถาปนาขึ้นเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ สุขภาพเป็นหน่วยงานอิสระที่มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีภารกิจในการดำเนินงาน วิจัยและเป็นศูนย์กลางให้ความร่วมมือประสานงาน และส่งเสริมการดำเนินการ ค้นคว้าวิจัยในสาขา วิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์ต่อการค้นหาสาเหตุประกอบการวินิจฉัย ของการเกิดโรคได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะยังผลให้สามารถกำหนดมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพและอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศต่อไป[58]
  • สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ได้เริ่มขึ้นโดยกลุ่มคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์ภายใน คณะสังคมศาสตร์ ใช้ชื่อว่า "ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์" และได้รับเงินสนับสนุนจากคณะสังคมศาสตร์ มูลนิธิ/หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อได้มีการขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน และมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงได้เสนอขอจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม และได้รับอนุมัติให้บรรจุ " โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม " เป็นโครงการใหม่ในแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) ต่อมา ได้มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยยกฐานะโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม ขึ้นเป็น "สถาบันวิจัยสังคม" ให้มีสำนักงานเลขานุการสถาบันวิจัยสังคม[59]

ใกล้เคียง